วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

จังหวัดเชียงราย

ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 785 ก.ม. มีเนื้อที่ประมาณ 11,678.369 ตร.ก.ม. หรือประมาณ 7,298,981 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ
ติดต่อกับ
ประเทศสหภาพพม่า และประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศใต้
ติดต่อกับ
จังหวัดลำปาง และจังหวัดพะเยา
ทิศตะวันออก
ติดต่อกับ
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดพะเยา
ทิศตะวันตก
ติดต่อกับ
ประเทศสหภาพพม่า และจังหวัดเชียงใหม่
ตราประจำจังหวัดเชียงราย
รูปช้างสีขาวใต้เมฆ
  เมื่อพญามังรายได้ทรงรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือในอาณาเขตรอบ ๆ ได้แล้วจึงทรงกรีฑาทัพไปแสดงฝีมือในการยุทธต่อหัวเมืองฝ่ายใต้ลงมา จึงได้ไปรวมพล ณ. เมืองลาวกู่เต้า และหมอควาญได้นำช้างมงคลของพญามังรายไปทอด (ผูก) ไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออก พลัดหายไป พญามังรายจึงได้เสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึงดอยทองริมแม่น้ำกกนัทธีได้ทัศนาการเห็น ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์เป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นในที่นั่น ให้ก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามเมืองว่า "เวียงเชียงราย" ตามพระนามของพญามังรายผู้สร้าง เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 ดังนั้น จึงได้นำรูปช้างสีขาวใต้เมฆแห่งความรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข บนพื้นสีม่วงของวันเสาร์ ซึ่งตรงกับวันประสูติของพญาเม็งราย เป็นสีประจำจังหวัด

                                               คำขวัญของจังหวัดเชียงราย


"เหนือสุดในสยาม                                             ชายแดนสามแผ่นดิน

ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา                                   ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง"

                                                    ธงประจำจังหวัดเชียงราย


                                                      ดอกไม้ประจำจังหวัด
ชื่อดอกไม้ดอกพวงแสด 
ชื่อ วิทยาศาสตร์ : Pyrostegia Venusta (ker) Miers
ลักษณะชนิดพันธุ์ไม้ : ไม้เลื้อยต่างประเทศ

ชื่ออื่น ๆ : Orange trumpet, Flane Flower, Fire - Cracder Vine


ต้นไม้ประจำจังหวัด


ชื่อพันธุ์ไม้ กาสะลองคำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Radermachera ignea (Kurz) Steenis
ชื่ออื่น ๆ ปีปทอง, แคเป๊าะ, สำเนาหลามต้น, สะเภา, อ้อยช้าง, จางจืด





กะเหรี่ยงคอยาว


ประชากร
ประชากรในเขตจังหวัดเชียงราย แบ่งออกได้เป็น กลุ่ม คือ
คนไทยพื้นราบ
ประกอบด้วยคนเมือง คนไทย ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ ดังนี้
คนเมือง  เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในอดีตเรียกว่า ไทยยวน หรือลาวพุงดำ ผู้ชายจะมีรูปร่างโปร่งบางกว่าคนไทยภาคกลางเล็กน้อย ผู้หญิงมีรูปร่างผิวพรรณและหน้าตางดงาม มีภาษาพูดแตกต่างไปจากไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือเฉพาะของตนเอง การแต่งกายพื้นเมือง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบ เกล้าผมทัดดอกไม้ ชายนิยมนุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อคอกลมแขนสั้นสีครามเข้ม มีผ้าขาวม้าคาดเอว บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง หน้าจั่วหลังคามีไม้ไขว้กันประดับด้วยลวดลาย เรียกว่ากาแล เครื่องดนตรีที่สำคัญได้แก่ เปี๊ยะ สะล้อ ซึง ปี่ แน กลอง นาฏศิลป์พื้นบ้านมีการฟ้อนเมือง ฟ้อนม่าน ฟ้อนเงี้ยว ประเพณีที่สำคัญคล้ายไทยภาคกลาง มีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปเช่นปอยหลวง เรียกขวัญ สืบชะตา เป็นต้น
ไทลื้อ,ไทเขิน,ไทใหญ่   เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของจีน
        ไทลื้อเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ตอนกลางและตอนบนตั้งแต่แขวงไชยบุรี ประเทศลาวขึ้นไป
        ไทยเขิน มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำขิ่นในรัฐฉาน จึงได้ชื่อว่าไทขีน ได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงราย ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน
        ไทใหญ่ เรียกตนเองว่าไต ถูกคนเมืองเรียกว่า เงี้ยว และพม่าเรียกว่าฉาน ซึ่งแปลว่าคนภูเขา ผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนไทยทั่วไป รูปร่างสูงโปร่งแข็งแรง มือเท้าเล็ก ผู้หญิงมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวเนียนกว่าผู้หญิงพม่าเล็กน้อย หน้าตาเฉลียวฉลาด มีภาษาพูดแตกต่างไปจากคนเมือง และคนไทยภาคกลางเล็กน้อย มีตัวหนังสือของตนเอง การแต่งกายพื้นบ้าน ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงตาตุ่ม ใส่เสื้อแขนกระบอกเข้ารูป เกล้าผมมวยโพกศีรษะด้วยผ้า เจาะหูใส่ตุ้มหู ผู้ชายใส่เสื้อแบบจีน นุ่งกางเกงขายาว และเกล้าผมมวย สวมหมวกปีกกว้าง เจาะหูใส่ตุ้ม บ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีไม้แกะสลักประดับ เครื่องดนตรีสำคัญได้แก่ ฆ้อง กลอง ฉาบ นาฏศิลป์พื้นบ้านมีเต้นโต ฟ้อนนก ประเพณีสำคัญคล้ายคนไทยทั่วไป
เชียงรายมีประชากรหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขา และชาวจีนฮ่อที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนดอยสูง แต่ละชนชาติจะมีประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้เชียงรายได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ชาวไทยภูเขา
ประกอบด้วย อีก้อ มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง ลีซอ ม้ง
ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า
หมายถึง บุคคลหลายสัญชาติที่อพยพมาจากพม่าเข้าอยู่ในประเทศไทยก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2519 การออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัยต้องขออนุญาตจากปลัดกระทรวงมหาดไทย
ชาวลาวอพยพ
หมายถึง คนลาวที่อาศัยอยู่กับญาติพี่น้องตามแนวชายแดนของประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวในปี พ.ศ. 2517 ขณะนี้ทางการของไทยยังไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกเขตจังหวัดที่อยู่อาศัย
 ชาวจีน
ชนกลุ่มน้อยซึ่งสืบเชื้อสายจีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอดีตทหารพรรคก๊กมินตั๋ง ได้มาตั้งรกรากในพื้นที่ ที่มีความโดดเด่นได้แก่ หมู่บ้านสันติคีรี

ภาพภูมิอากาศ
      จังหวัดเชียงรายมีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเมืองร้อน ได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่หอบเอาความหนาวเย็นจากไซบีเรียพัดผ่านประเทศจีนเข้าสู่ภาคเหนือของไทย และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่หอบเอาความชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้อากาศหนาวเย็นมากในช่วงเดือนมกราคม และฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ จึงทำให้อุณหภูมิและฤดูแตกต่างกันมาก โดยมีฤดูต่างๆ แบ่งตามเวลาดังนี้



ฤดูร้อน           เริ่มจากกลางเดือนกุมภาพันธ์-กลางเดือนพฤษภาคม มีอุณหภูมิประมาณ 40  องศาเซลเซียส


ฤดูฝน              เริ่มจากกลางเดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส


ฤดูหนาว        เริ่มจากกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 8 องศาเซลเซียส



อาหารพื้นบ้านเชียงราย
        ในอดีตบริเวณภาคเหนือของไทยเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน ช่วงที่อาณาจักร แห่งนี้เรืองอำนาจ ได้แผ่ขยายอาณาเขตเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว และมีผู้คนจากดินแดน ต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแห่งนี้ จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามา ในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย
ไส้อั่ว
น้ำพริกหนุ่ม
       อาหารของภาคเหนือ ประกอบด้วยข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก มีน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง มีแกงหลายชนิด เช่น แกงโฮะ แกงแค นอกจากนั้นยังมีแหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่าง ๆ สภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารพื้นบ้านภาคเหนือแตกต่างจากภาคอื่น ๆ นั่นคือ การที่อากาศหนาวเย็นเป็นเหตุผลให้อาหารส่วนใหญ่มีไขมันมาก เช่น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น อีกทั้งการที่อาศัยอยู่ในหุบเขาและบนที่สูงอยู่ใกล้กับป่า จึงนิยมนำพืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน   


แคบหมู

แกงแค
              อาหารพื้นบ้านภาคเหนือมีความพิเศษตรงที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมการกินจากหลายกลุ่มชน เช่น ไทใหญ่ จีนฮ่อ ไทลื้อ และคนพื้นเมือง


ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี
แห่พระแวดเวียง
ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเชียงราย ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย จัดตั้งเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการะบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
ปอยหลวง
งานบุญปอยหลวงเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนาซึ่งเป็นผลดีต่อสภาพทางสังคมหลายประการ นับตั้งแต่ชาวบ้านได้มาทำบุญร่วมกัน ร่วมกันจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานทำบุญปอยหลวงยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน และมีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน
ป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมือง งานประเพณีสงกรานต์
จัดขึ้นประมาณกลางเดือนเมษายน ในงานมีขบวนแห่และสรงน้ำพระเจ้าล้านทอง การแข่งเรือ และการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพ จัดบริเวณตัวเมืองเชียงราย และอำเภอเชียงแสน
งานเทศกาลลิ้นจี่และของดีเมืองเชียงราย
เทศกาลที่ชาวเกษตรกรต่างนำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาออกร้าน โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงมากของเชียงราย จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ภายในงานมีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ และการออกร้าน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย
งานไหว้สาพญาเม็งราย
จัดให้มีพิธีบวงสรวงพ่อขุนเม็งรายมหาราช มีการออกร้าน จัดนิทรรศการของส่วนราชการและเอกชน และงานรื่นเริงอื่นๆ จัดวันที่ 23 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์
เป็งปุ๊ด
เป็งปุ๊ดหรือ เพ็ญพุธเป็นประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนค่อนรุ่งเข้าสู่วันเพ็ญขึ้น15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ตามวัฒนธรรมและความเชื่อของบรรพบุรุษล้านนาไทย ที่เชื่อกันว่าพระอุปคุตซึ่งพระอรหันต์องค์หนึ่งแปลงกายเป็นสามเณรน้อยมาบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกในยามเที่ยงคืน และชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรถวายพระอุปคุตในวันเป็งปุ๊ดก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญ มีโชคลาภและร่ำรวย บังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยบรรพบุรุษชาวล้านนาเชื่อว่า ทุกคืนที่ย่างเข้าสู่วันพุธขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเป็งปุ๊ด และจะมีประชาชนชาวล้านนาจำนวนมากมารอเพื่อประกอบพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร
งานอนุรักษ์มรดกไทยล้านนา
จัดในเดือนเมษายน มีการจัดนิทรรศการและการแสดงแบบไทยล้านนา มีการสาธิตงานศิลปะ บริเวณหอวัฒนธรรมนิทัศน์ อำเภอเมือง
งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง
จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาว ล้านนา รวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้า หลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุ เมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน
ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก
เป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวประมง ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เกี่ยวกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาด ใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงว่า เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเจ้าคุ้มครอง ก่อนที่ชาวประมง จะจับปลาบึกต้องมีการบวงสรวงก่อน ฤดูกาลจับปลาบึกอยู่ระหว่างเดือนเมษายน- พฤษภาคม
ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ
หรือที่เรียกตนเองว่า "อาข่า" มีเชื้อสายจากจีน-ธิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม




การศึกษา

สถาบันอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติเชียงราย
มหาวิทยาลัยพะเยา วิทยาเขตเชียงราย
วิทยาลัยเชียงราย (ในอนาคตอาจจะยกฐานะเป็น"มหาวิทยาลัยเชียงราย")
สถาบันอาชีวศึกษา
วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย
วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย
วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย
วิทยาลัยการอาชีพเชียงราย
วิทยาลัยการอาชีพเทิง
วิทยาลัยการอาชีพเวียงเชียงรุ้ง
โรงเรียนพณิชยการเชียงราย
โรงเรียนเทคโนโลยีกรุงธนเชียงราย
โรงเรียนวิรุณบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีเชียงราย
โรงเรียนโปลิเทคนิคเชียงราย
โรงเรียนอาชีวศึกษาแม่สาย
โรงเรียนชัยศิษย์บริหารธุรกิจและเทคโนโลยีเชียงของ


ทรัพยากร

ทรัพยากรป่าไม้
พื้นที่จังหวัดเชียงรายมีทั้งสิ้น 11,678.369 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,298,981 ไร่ ในปี 2542 มีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 2,365,967 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 32.42 ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ป่าไม้แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
อุทยานแห่งชาติ
          อุทยานแห่งชาติดอยหลวง เนื้อที่ 731,250 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา อำเภอวังเหนือ และ อำเภองาว จังหวัดลำปาง
          อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก มีเนื้อที่ 467,185 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ลาว อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
          อุทยานแห่งชาติแม่ปืม มีเนื้อที่ 227,312 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอพาน อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย, อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา
          อุทยานแห่งชาติภูซาง เนื้อที่ 178,050 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อำเภอเชียงคำและอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา
          อุทยานแห่งชาติขุนแจ มีเนื้อที่ 168,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

 วนอุทยาน

วนอุทยาน (Forest Park) เป็นแหล่งธรรมชาติที่รัฐจัดไว้ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชน และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด จังหวัดเชียงรายมีวนอุทยานจำนวน 27 แห่ง รายชื่อวนอุทยานในจังหวัดเชียงราย

  1. วนอุทยานชาพันปี
  2.   วนอุทยานดอยกาดผี
  3.   วนอุทยานดอยพระบาท
  4.   วนอุทยานถ้ำผาแล
  5.   ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
  6.   วนอุทยานน้ำตกขุนน้ำยาบ
  7.   วนอุทยานน้ำตกดอนศิลา-ผางาม
  8.   วนอุทยานน้ำตกตาดควัน
  9.   วนอุทยานน้ำตกตาดสวรรค์
  10.   วนอุทยานน้ำตกตาดสายรุ้ง
  11.   วนอุทยานน้ำตกมิโอฉ่อแต๊ะ
  12.   วนอุทยานน้ำตกแม่โท
  13.  วนอุทยานน้ำตกแม่สลอง
  14.   วนอุทยานน้ำตกวังธารทอง
  15.   วนอุทยานน้ำตกศรีชมภู
  16.   วนอุทยานน้ำตกห้วยก้างปลา
  17.   วนอุทยานน้ำตกห้วยตาดทอง
  18.   วนอุทยานน้ำตกห้วยน้ำอุ่น
  19.   วนอุทยานน้ำตกห้วยแม่สัก
  20.   วนอุทยานน้ำตกหัวแม่คำ
  21.  วนอุทยานพญาพิภักดิ์
  22.   วนอุทยานภูชมดาว
  23.   วนอุทยานภูชี้ฟ้า
  24.   วนอุทยานริมโขง
  25.   วนอุทยานสันผาพญาไพร
  26.   วนอุทยานห้วยทรายมาน
  27.   วนอุทยานห้วยน้ำช้าง
                                                        
                                                       ทรัพยากรน้ำ



แม่น้ำโขง/สามเหลี่ยมทองคำ


           แม่น้ำกก มีต้นกำเนิดในประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ไหลผ่านอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่จัน อำเภอดอยหลวง อำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่หมู่ที่ 7 บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน มีความยาวประมาณ 145 กิโลเมตร
           แม่น้ำลาว ต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า แล้วไหลผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย ไปบรรจบกับ แม่น้ำกกที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย มีความยาวประมาณ 137กิโลเมตร
 แม่น้ำอิง ต้นน้ำเกิดจากหนองเล็งทรายก่อนเข้ากว๊านพะเยา ไหลผ่านอำเภอเทิง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ ส่วนที่ไหลผ่าน จังหวัดเชียงราย ยาว ประมาณ 136 กิโลเมตร
           แม่น้ำจัน ต้นน้ำเกิดจากภูเขาสามเส้า ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอแม่จันติดกับรัฐฉาน (ประเทศพม่า) แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับแม่น้ำคำไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง มีความยาวประมาณ 100กิโลเมตร
           แม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากภูเขาหิมาลัย ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แล้วไหลผ่านอำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น รวมความยาวที่ผ่านจังหวัดเชียงราย ประมาณ 94 กิโลเมตร
           แม่น้ำคำ ต้นน้ำเกิดจากภูเขาในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง แล้วไหลผ่านอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่หมู่ที่ 5 บ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาวทั้งสิ้น ประมาณ 85 กิโลเมตร
           แม่น้ำสาย ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ในเขตจังหวัดเชียงราย เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ ประมาณ 31 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี
           แม่น้ำรวก ต้นน้ำเกิดในประเทศพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทย และประเทศพม่า



ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งแร่


ทังสเตน หรือ โวลฟรัม แร่ทังสเตนเป็นแร่ที่พบในเทือกเขาด้านตะวันตกของจังหวัด ในเขตอำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งอาจเกิดเป็นแหล่งแร่อิสระเช่นซีไลท์และวุลแฟรม หรืออาจเกิดรวมกับแร่อื่น ๆ เช่น ดีบุก และพลวง
ดีบุกและพลวง แร่ทั้งสองประเภทเป็นแร่ในกลุ่มโลหะพื้นฐาน อาจเกิดร่วมกับแร่ทังสเตนมีอยู่มากในเทือกเขาด้านตะวันตก เช่นกัน แต่มีปริมาณและการผลิตน้อยกว่าทังสเตน
แมงกานีส เป็นแหล่งแร่ที่มีขนาดเล็ก เคยมีการผลิตในเขตอำเภอเทิง ปัจจุบันมีแปลงประทาน
ในเขตอำเภอพญาเม็งราย แต่ไม่มีการผลิต
ไพโรฟิลไลต์ และกัลก์ เป็นแร่ที่พบกระจายในเขตอำเภอเทิงและอำเภอเชียงของ แต่ไม่มีการผลิต
ดินขาว และบอลเคลย์ เป็นแร่ที่พบกระจายในอำเภอเวียงป่าเป้า มีผลผลิตจำนวนน้อย ปัจจุบัน
ยังคงมีการผลิตบอลเคลย์จากเหมืองเพียงแห่งเดียว
หินปูนอุตสาหกรรม เป็นหินปูนที่ใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ใช้ทำปูนขาวสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง และอุตสาหกรรมน้ำตาล มีการผลิตหินปูนในเขตอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอเวียงชัย